หลายปีที่ผ่านมานี้กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อหลายสิ่งในทางลบมากขึ้น และเราอยากชวนทุกคนมองดู ‘แนวโน้ม’ ของการเปลี่ยนแปลง 3 รูปแบบที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
1
ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกำลังไหลไปรวมกันที่ ‘คนที่ได้ประโยชน์อยู่แล้ว’ มากขึ้นเรื่อยๆ
พูดอีกความหมายหนึ่งคือ “คนที่รวยอยู่แล้วกำลังรวยมากขึ้น คนที่อยากรวยต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้มีรายได้ และคนที่จนอยู่แล้วก็จะยิ่งใช้ชีวิตลำบากขึ้น”
นี่คือความอัปยศของระบบการกระจายเงินตรา คนที่รวยที่สุด 10% แรกของโลกกำลังเป็นเจ้าของทรัพยากรมากกว่า 40% ของโลกนี้ [ข้อมูลจาก UNDP, 2021] ความเจ็บปวดนี้มากเพียงพอหรือยังเมื่อได้เห็นว่าคนเหล่านี้มีอำนาจมากเพียงใด และคนอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือกลุ่ม 10% จะต้องใช้ชีวิตที่ยากลำบากและ ‘เสียงเบา’ มากเพียงใด
ระบบเสรีนิยมนั้นอาจไม่ได้สวยงามอย่างที่ชื่อบอกไว้ เพราะกำลังทำให้ชีวิตของคนจำนวนมากอีก 90% ที่เหลือนั้นต้อง ‘ไร้เสรี’
2
ความต้องการทรัพยากรที่มากขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรของโลกสวนทางกลับไปในความเปราะบาง
ปัญหาความต้องการทรัพยากรมีมานับร้อยปีแล้ว แม้เราจะผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติเขียว (Green evolution) และการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) มาหลายสิบปีแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้ตอบโจทย์ที่ยั่งยืนของการสร้างและการใช้ทรัพยากรได้อย่างสมบูรณ์
หลายสิบปีมานี้เราสูญเสียพื้นที่ป่าและแผ่นดินที่อุดมด้วยความสมบูรณ์ ไม่เพียงแต่พื้นที่บนบก แต่ในผืนน้ำ แผ่นน้ำแข็งขั้วโลก ความอุดมสมบูรณ์ของชายหาดและแนวปะการังที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำก็ถูกทำลายด้วยผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน [ข้อมูลจาก WWF, 2021]
3
ความขัดแย้งในสังคมที่สร้างความงงงวย
หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ หลายประเทศต้องเผชิญกับความขัดแย้งทั้งจากภายในและภายนอก ผลการคัดเลือกผู้นำของหลายประเทศเกิดขึ้นอย่างงงงวย มีการรัฐประหาร การยึดอำนาจโดยคนบางกลุ่ม การไม่เคารพกฎกติกา ความขัดแย้งในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง
ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ความโหวงเหวงหาที่พึ่งไม่ได้ทำให้คนต้องหันไป ‘เชื่อ’ ในสิ่งที่เป็นความหวังลมๆ แล้งๆ และตอบสนองต่อความขัดแย้งด้วยความก้าวร้าว เพราะสมองไม่อาจคิดถึงเรื่องราวต่างๆ อย่างเป็นเหตุผลได้อีก เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นโดยใช้อารมณ์ และคนที่ควรจะยึดมั่นในหลักการก็ได้สูญสิ้นศรัทธาในชีวิตของตนเองไปเสียแล้ว
เพราะเหตุนี้การขับเคลื่อนสังคมจึงมีความสำคัญ
หากไม่มีใครทำอะไรในตอนนี้เลย ผลกระทบนี้คงไม่ต้องรอถึงรุ่นหน้า เพราะมันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพวกเราเองในตอนที่แก่เฒ่า หรือแม้แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยเช่นกัน
ความรับผิดชอบของคนแต่ละรุ่นส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนรุ่นอื่นอยู่เสมอ
ทุกสิ่งล้วนเชื่อมโยงถึงกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมของคน การศึกษา วัฒนธรรม ความเชื่อของคนในประเทศ สภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
แต่ละหน่วยต่างเชื่อมโยงถึงกัน
นี่คือเหตุผลว่าทำไมการขับเคลื่อนสังคมและการประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกเหนือจากจะช่วยหลีกเลี่ยงผลด้านลบที่เกิดขึ้นต่อแต่ละหน่วยใน ‘นิเวศ’ นี้แล้ว การขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ เพื่อพลิกสถานการณ์ลบให้เริ่มกลับกลายเป็นบวกทีละน้อย
อ้างอิง
UNDP (2021). Goal 10. Reduced Inequality. www.undp.org
WWF (2021). Living Planet Report 2021. www.worldwildlife.org
Photo by Marek Okon
SolidSprout
ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม
Comments