เสียงทำให้เกิดอารมณ์ได้อย่างไร? มาตีแผ่ปรากฏการณ์ที่อยู่เบื้องหลัง “เสียง” กัน
ประสบการณ์ของแต่ละคนเป็นสิ่งที่อ่อนไหว เพราะสิ่งที่อยู่รอบตัวทุกอย่างสามารถส่งผลร่วมกันจนทำให้เกิดเป็นความรู้สึกและอารมณ์ได้ทั้งหมด
ลองนึกภาพตัวเองนั่งจิบกาแฟในร้านอาหารอย่างชิวๆ ถ้าอยู่ๆ มีพนักงานคนหนึ่งทำแก้วตกแตก เพล๊ง!... บรรยากาศในร้านคงจะเปลี่ยนไปทันที หลายคนจะขมวดคิ้ว บางคนจะหันไปหาที่มาของเสียง บทสนทนาบนโต๊ะคงจะหยุดชะงัก ความชิวในการจิบกาแฟก็คงจะสะดุด เสียงที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจแบบนี้มักก่อให้เกิดการตอบสนองของผู้คน หลายครั้งกลายเป็นการรบกวน และมันจะยิ่งรุนแรงกว่านั้นหากหูของเรายังไม่เกิด “ความเคยชิน”
ความเคยชิน เป็นปรากฏการณ์ทางสมองและพฤติกรรมที่เรียกว่า “habituation” เมื่อเราอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงบางอย่างเกิดขึ้นซ้ำๆ ในช่วงแรกจิตใจของเราจะจดจ่ออยู่ที่เสียงนั้น แต่สักพักหนึ่งสมองของเราจะเปลี่ยนเสียงนั้นให้กลายเป็น “เสียงระดับพื้นฐาน” ซึ่งจะทำให้เรา “แค่ได้ยินเสียง” แต่ “ไม่ได้ใส่ใจ” ความเคยชินเป็นกลไกที่สำคัญของมนุษย์ เพราะช่วยดูแลเราไม่ให้จิตใจจดจ่ออยู่กับเสียงและสิ่งรอบตัวทุกอย่างมากเกินไปโดยไม่จำเป็น ความเคยชินนี้จะทำให้เราใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ปัญหามักจะเกิดตอนที่กระบวนการสร้าง “ความเคยชิน” ยังไม่เสร็จสมบูรณ์
เมื่อกระบวนการสร้างความเคยชินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และถ้าเสียงนั้นแทรกดังขึ้นในช่วงเวลาที่ทุกอย่างกำลังเงียบสงบ (เช่น จานตกแตกในร้านอาหาร หรือการเคาะระฆังในตอนเช้า) เราจะเกิดความรู้สึกแปลกแยก และมีอารมณ์หงุดหงิดได้ง่ายๆ แต่ความรู้สึกนั้นอาจจะระเบิดออกมาเป็นการกระทำหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ของแต่ละคน
การจัดการกับอารมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของความสามารถขั้นสูงของมนุษย์ ซึ่งสามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ (ไว้จะมาเล่าให้ฟังในวันหลังนะ) แต่การจะผลักภาระให้ผู้คนต้องยับยั้งความรู้สึกของตนเองเพียงฝ่ายเดียวอาจไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะผู้คนมีความสามารถในการยับยั้งตนเองที่ไม่เท่ากัน การออกแบบเสียงที่ดีจึงเข้ามามีบทบาทในกระบวนการนี้
หลักการทำงานของความเคยชินที่ว่านี้ถูกนำมาใช้ในการผลิตสื่อต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้เสียงเพลงค่อยๆ ดังขึ้นเมื่อตอนเริ่มเพลง และค่อยๆ เบาลงเมื่อเพลงกำลังจะจบ รวมไปถึงการเปิดเพลงคลอเบาๆ ในร้านกาแฟและร้านอาหาร โดยให้เสียงเบาๆ ในร้านช่วยกลบเสียงพูดคุยของผู้คน และยังลดความแตกตื่นที่อาจเกิดจากการตะโกนของคนในร้าน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
สิ่งเล็กๆ อย่าง “เสียง” นี้เองสามารถทำให้เกิดผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้คนได้ไม่น้อยเลย ในหลายครั้ง การออกแบบที่ดีจึงไม่จำกัดอยู่ที่รูปลักษณ์ของวัตถุที่ตามองเห็นได้เท่านั้น แต่รวมไปถึงเสียง ซึ่งจะสร้างความกลมกลืนและความรู้สึกที่ดีให้แก่ผู้คนด้วย
SolidSprout
#ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม
Comments