top of page

社会的なインパクトのためのデザイン

D E S I G N   f o r   S O C I A L   I M P A C T S

การกุศล (charity) : ความหวังดีที่อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี


เพิ่งมีข่าวดราม่าจากงานวิ่งการกุศลของชลบุรีไปหมาดๆ อันที่จริงผู้จัดตั้งใจจะเอาเงินรายได้มาจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่สุดท้ายดันเกิดกระแสตีกลับเพราะการจัดการสวัสดิการของนักวิ่งยังไม่ดีพอ บางคนเข้ามาช่วยอธิบายว่างานนี้มีจุดประสงค์เพื่อ "การกุศล" และคนจัดงานมีความตั้งใจดี แต่อันที่จริงงานการกุศลนั้น "ดี" ต่อสังคมจริงหรือไม่? วันนี้เราจะมาชวนมองให้เห็นอีกด้านของการกุศล (charity) ที่อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน


การกุศล (charity) : ความหวังดีที่อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี

01

งานการกุศลอาจแก้ปัญหาไม่ตรงจุด


ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร หรือการบริจาคให้คนยากไร้ ทุกอย่างที่ว่ามาต่างดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดี แต่กิจกรรมลักษณะนี้แทบทั้งหมดเป็นการช่วยได้เพียงบรรเทาอาการของปัญหา แต่กลับไม่ได้เข้าไปจัดการกับ "ต้นตอของปัญหา" ที่แท้จริง ถ้าจะเปรียบเทียบก็คงคล้ายกับการทำแผลให้แก่เด็กที่ถูกน้ำร้อนในหม้อลวก แต่ไม่ได้ยกหม้อต้มน้ำนั้นลงจากเตา น้ำร้อนนั้นก็จะยังร้อนและเดือดอยู่อย่างนั้น พร้อมที่จะลวกเด็กคนนั้นและคนอื่นๆ ได้อีกในอนาคต


 

02

งานการกุศลอาจยิ่งตอกย้ำปัญหาให้ฝังรากลึกกว่าเดิม


มีหลายครั้งที่เราเห็นงานบริจาคหรืองานบันเทิงที่ตั้งใจจัดให้กับคนด้อยโอกาสเฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านในสลัมหรือกลุ่มคนผู้พิการ จากมุมมองนี้มักมีความเสี่ยงสูงมากที่จะยิ่งตอกย้ำคนในชุมชนให้รู้สึกแปลกแยกออกจากคนกลุ่มอื่น ทำให้เขาศิโรราบต่อความแตกต่างนั้น และเป็นการขยายความแตกต่างระหว่าง "เรา" กับ "เขา" ให้ชัดเจนขึ้น และยังเสริมอำนาจให้แก่ "เรา" ซึ่งเป็นคนภายนอก ว่าเป็นผู้ที่มีกำลังมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเงิน ความสุข และความสูงส่งทางจริยธรรม (หากสนใจประเด็นนี้ เราแนะนำให้อ่านงานต่างๆ ของ Reinhold Niebuhr)


 

03

งานการกุศลอาจเป็นประโยชน์ต่อ "ผู้จัด/ผู้ให้" มากกว่า "ผู้รับ"


เพราะผู้รับส่วนใหญ่มักมีโครงสร้างการรวมกลุ่มที่ไม่ชัดเจนและมีการจัดการที่ไม่เป็นระบบ ดังนั้นสิ่งที่ตีค่าออกมาจากงานการกุศลแต่ละครั้งจึงไม่ใช่ตัวเลขที่แสดงถึงผลกระทบทางสังคมหรือคุณภาพชีวิตของผู้รับที่ดีขึ้น แต่ผลที่มักเราเห็นมักจะเป็นตัวเลขเงินบริจาคหรือจำนวนสิ่งของที่ได้รับบริจาค ซึ่งเป็นการประเมินเพียงพื้นผิวของงานการกุศลเท่านั้น ตัวเลขเหล่านี้มักถูกใช้เพื่อโฆษณาชวนเชื่อและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผู้จัดงาน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่ากลุ่มคนที่เราต้องการช่วยเหลือนั้นมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างไรหรือไม่ นี่ยังไม่รวมถึงการที่หน่วยงานภาครัฐมักจะลดงบประมาณที่สนับสนุนการแก้ปัญหานั้นๆ ลง เมื่อพบว่ามีโครงการการกุศลจำนวนมากกำลังช่วยแก้ปัญหานี้อยู่


 

ถ้างานการกุศลที่มีอยู่มีข้อเสีย แล้วการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมควรจะทำอย่างไรจึงจะดีขึ้นกว่านี้?


0A

เชื่อมต่อผู้จัด/ผู้ให้กับผลกระทบทางสังคมที่ตรวจสอบได้


หากจะจัดงานให้เห็นผลจริง การประเมินผลกระทบทางสังคมจะกลายเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงตั้งแต่แรก เพราะด้วยกระบวนการตรวจสอบและสื่อสารผลกระทบที่ดี จะทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าโครงการที่ทำนี้กำลังสร้างประโยชน์ให้กับใครกันแน่ ระหว่างตัวเราเอง ผู้จัด ผู้ให้ หรือผู้ที่กำลังเดือดร้อนจริงๆ



0B

สร้างแรงจูงใจเชิงบวกให้แก่คนในสังคม


เราคงคุ้นเคยกับวลีที่เชิญชวนให้คนช่วยกันบริจาค เช่น "ร่วมกันช่วยเหลือ เพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่ดี" หรือ "ร่วมกันบริจาค เพื่อให้เพื่อนพี่น้องได้ลืมตาอ้าปาก" การใช้เสียงเพลงที่น่าเศร้า และสีสันที่ชวนหดหู่ การสื่อสารลักษณะนี้มักสร้างความ "น่าสงสาร" และยิ่งตอกย้ำถึงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ให้และผู้รับ การปรับเปลี่ยนคำพูดและวิธีการสื่อสารเพียงเล็กน้อยที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมด้วยความรู้สึกเชิงบวกจะช่วยลดความเสี่ยงในการสร้างช่องว่างทางอำนาจระหว่างผู้จัด ผู้ให้ และผู้รับได้


 


ยังมีอีกหลายวิธีที่จะทำงานการกุศลให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เราคงไม่ลืมที่จะต้องขอบคุณคนทำงานเพื่อสังคมทุกๆ ท่าน ที่มีความตั้งใจดีและเล็งเห็นปัญหาต่างๆ ที่คนทั่วไปมักไม่สนใจจะเข้ามาจัดการ แต่นอกเหนือจากความตั้งใจดีในการสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับผู้คนแล้ว การออกแบบกระบวนการและการจัดการที่ตรงจุดอาจช่วยให้เกิดผลในเชิงบวกได้ยั่งยืนยิ่งขึ้นกว่าเดิม และยังช่วยป้องกันผลเสียที่อาจคาดไม่ถึงด้วย



SolidSprout

#ออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สังคม

Comments


bottom of page